วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัตน์








จอห์น ไนซ์บิตต์ ผู้พยากรณ์สังคมได้เขียนหนังสือเรื่อง Megatrends 2000 โดยกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางสังคมโลกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีลักษณะการกระจายแบบทุกทิศทาง และมีระบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว และยังสื่อสารแบบสองทิศทาง ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมจึงแตกต่างจากในอดีตมาก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน แนวโน้มที่สำคัญที่เกิดจากเทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นที่กล่าวถึงกันมาก มีหลายประการ

เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมสารสนเทศ ซึ่งในอดีตสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกจากสังคมความเป็นอยู่แบบเร่ร่อนมาเป็นสังคมเกษตรที่รู้จักกับการเพาะปลูกและสร้างผลิตผลทางการเกษตร ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง ต่อมามีความจำเป็นต้องผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมากและต้นทุนถูก จึงต้องหันมาผลิตแบบอุตสาหกรรม ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมเมือง มีการรวมกลุ่มอยู่อาศัยเป็นเมือง มีอุตสาหกรรมเป็นฐานการผลิต จนมาถึงปัจจุบันซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ โดยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารมีบทบาทมากขึ้น มีการใช้เครือข่าย เช่น อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ เกิดคำใหม่ว่า “ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace)” มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใน ไซเบอร์สเปซ เช่น การพูดคุย การซื้อสินค้าและบริการ การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดสภาพเสมือนจริงมากมาย อาทิ ห้องสมุดเสมือนจริง ห้องเรียนเสมือนจริง ที่ทำงานเสมือนจริง

เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัสและตอบสนองตามความต้องการ ซึ่งแต่เดิมการใช้เทคโนโลยีเป็นแบบบังคับ เช่น การดูโทรทัศน์ วิทยุ เมื่อเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ จะไม่สามารถเลือกตามความต้องการได้ ถ้าสถานีส่งสัญญาณใดมาก็จะต้องชม หากไม่พอใจก็ทำได้เพียงเลือกสถานีใหม่ แนวโน้มจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เรียกว่า on demand เช่น เมื่อต้องการชมภาพยนตร์เรื่องใดก็สามารถเลือกชมและดูได้ตั้งแต่ต้นรายการ หากจะศึกษาหรือเรียนรู้ก็มี education on demand คือสามารถเลือกเรียนตามต้องการได้ การตอบสนองตามความต้องการเป็นหนทางที่เป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าจนสามารถนำระบบสื่อสารมาตอบสนองตามความต้องการของมนุษย์ได้

เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา โดยการโต้ตอบผ่านระบบเครือข่าย อาทิ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบบประชุมบนเครือข่าย ระบบ Tele-education ระบบการค้าบนเครือข่าย (E-commerce) ลักษณะของการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานไปทุกหนทุกแห่งและดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เห็นได้จากตัวอย่างที่มีมานานแล้ว เช่น ระบบเอทีเอ็ม ทำให้การเบิกจ่ายได้เกือบตลอดเวลา และกระจายไปใกล้ตัวผู้รับบริการมากขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น การบริการจะกระจายมากยิ่งขึ้นจนถึงที่บ้าน ในอนาคตสังคมการทำงานจะกระจายจนงานบางงานอาจนั่งทำที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ และเวลาใดก็ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก ความเกี่ยวโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจซึ่งแต่เดิมมีขอบเขตจำกัดภายในประเทศ ก็กระจายเป็นเศรษฐกิจโลก ทั่วโลกจะมีกระแสการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสินค้าบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศ และเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน หน่วยงานภายในเป็นแบบเครือข่ายมากขึ้น แต่เดิมการจัดองค์กรมีการวางเป็นลำดับขั้น มีสายการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง แต่เมื่อการสื่อสารแบบสองทางและการกระจายข่าวสารดีขึ้น มีการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรผูกพันกันเป็นกลุ่มงาน มีการเพิ่มคุณค่าขององค์กรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดโครงสร้างขององค์กรจึงปรับเปลี่ยนจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะสร้างองค์กรเป็นเครือข่ายที่มีลักษณะการบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น หน่วยธุรกิจจะมีขนาดเล็กลง และเชื่อมโยงกันกับหน่วยธุรกิจอื่นเป็นเครือข่าย สถานะภาพขององค์กรจึงต้องแปรเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี เพราะการดำเนินธุรกิจต้องใช้ระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็ว ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว

เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น อีกทั้งยังทำให้การตัดสินใจหรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น แต่เดิมการตัดสินปัญหาอาจมีหนทางให้เลือกได้น้อย เช่น มีคำตอบเดียว ใช่และไม่ใช่ แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการตัดสินใจ ทำให้วิถีความคิดในการตัดสินปัญหาเปลี่ยนไป ผู้ตัดสินใจมีทางเลือกได้มากขึ้น มีความละเอียดอ่อนในการตัดสินปัญหาได้ดีขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศ ในปัจจุบันทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั่วโลกทำได้สะดวกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการรับชมข่าวสาร รายการโทรทัศน์ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารระหว่างกันและติดต่อกับคนได้ทั่วโลก จึงเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นสังคมโลกมากขึ้น

กรณีศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน

เอาท์ซอร์ส Outsource (การแบ่งงานบางส่วนออกไปทำที่อื่น)
โทมัส ฟรีดแมน นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ใครว่าโลกกลม (The World is Flat)” ได้กล่าวถึงการแบนราบลงของสนามแข่งขันทุกแห่งบนโลก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา บริษัทขนาดเล็ก หรือกลุ่มบุคคล/องค์กรบางกลุ่มสามารถเข้าร่วมแข่งขันในสมรภูมิทางเศรษฐกิจได้นั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
การจ้างงานบางอย่างถูกแบ่งงานไปยังที่อื่นมีความต่างทางด้านเวลา เช่น อเมริกากับอินเดียซึ่งอยู่คนละซีกโลก เวลาต่างกัน 12 ชั่วโมง ที่อเมริกาเป็นกลางคืนแต่อินเดียยังเป็นกลางวัน ทำให้งานบางอย่างสามารถส่งจากอเมริกาในตอนกลางคืนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปให้ชาวอินเดียช่วยจัดการให้ อาทิ โรงพยาบาลบางแห่งส่งไฟล์ภาพสแกน CAT หรือ MRI ของคนไข้ผ่านอินเตอร์เน็ตไปให้หมอชาวอินเดียช่วยวินิจฉัย บริษัทบางแห่งอัดไฟล์เสียงบันทึกการประชุมส่งไปยังอินเดียให้ช่วยถอดบันทึกการประชุมและสรุปรายงานเพื่อส่งกลับมาในตอนเช้า

ประสิทธิภาพของการส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตที่สามารถส่งข้อมูลแบบมัลติมีเดียทั้งข้อความ ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วผ่านเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง ทำให้การแบ่งงานไปยังที่อื่นมีความสะดวกมากขึ้น อาทิ ในปี 2005 มีแบบฟอร์มเสียภาษีของอเมริกาจำนวนกว่า 400,000 รายการถูกสแกนส่งไปยังอินเดียให้นักบัญชีชาวอินเดียเป็นผู้จัดทำและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ธุรกิจ E-tutoring ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยในตอนเย็นเด็กนักเรียนชาวอเมริกันจะใช้อินเตอร์เน็ตในการติวเนื้อหาในการเรียน การทำการบ้าน รายงานโดยครูผู้สอนนั้นเป็นชาวอินเดีย หรือธุรกิจการตอบรับโทรศัพท์ เช่น การแจ้งเตือนชำระเงิน การจองตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหารหรือโรงแรม การชักชวนทำบัตรเครดิต เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้มีบริษัทอยู่ที่อินเดียทั้งสิ้น ซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากอาจจะยังไม่ทราบว่าเมื่อใช้โทรศัพท์ติดต่องานดังกล่าวนั้น เป็นการโทรผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก โดยโอเปอเรเตอร์ที่รับสายอยู่ที่ประเทศอินเดีย
การแบ่งงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ที่รับแบ่งงานด้านซอฟต์แวร์จากอเมริกา โดยบริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่งในเมืองซิลิกอนแวลเลย์ที่อเมริกา ได้จ้างวิศวกรคอมพิวเตอร์จากอินเดียในการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือที่เมืองต้าเหลียน ประเทศจีนซึ่งมีชาวจีนจำนวนมากที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ และรับแบ่งงานหลายอย่างจากญี่ปุ่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น ออกแบบซอฟต์แวร์ ออกแบบอาคารด้วยคอมพิวเตอร์ งานด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยที่คิดค่าแรงถูกกว่าที่ญี่ปุ่นมาก

สังคมออนไลน์

ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยชุมชนออนไลน์ อาทิ Linux, Apache, FireFox ล้วนแล้วแต่เป็นซอฟต์แวร์ที่นักคอมพิวเตอร์อิสระทั่วโลกช่วยกันพัฒนาขึ้นมาโดยคาดหวังว่าจะเป็นซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open source) ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโปรแกรม ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีและมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นคือซอฟต์แวร์รหัสเปิดเหล่านี้ได้รับการตอบสนองจากบรรดาผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ซึ่งอาจมีราคาสูงมาใช้ นอกจากนี้ธุรกิจบางประเภทก็เคยใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยชุมชนออนไลน์มาพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ ดังเช่นในปี ค.ศ.2000 ธุรกิจเหมืองทองคำของแคนาดา ชื่อว่า โกล์คอร์ปอิงค์ ได้ออกประกาศชวนนักธรณีวิทยาทั่วโลกร่วมแข่งขันออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อค้นหาแหล่งแร่ทองคำที่เหมืองเรดเลกในแคนาดา โดยมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 575,000 ดอลล่าห์สหรัฐ โดยบริษัทได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยากว่า 1,400 คน จาก 50 ประเทศเข้ามาดาวน์โหลดข้อมูลและแข่งขันกันสร้างซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลแหล่งแร่และจำลองภาพเสมือนจริง ผลที่ได้รับคือบริษัทมีผลผลิตทองคำเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า และถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการเหมืองแร่
การอัพโหลด (Upload) ที่ทำให้คุณทุกคนกลายเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งโทมัส ฟรีดแมน เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สมัยก่อนสังคมออนไลน์ส่วนมากคือการดาวน์โหลดหรือบริโภคข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารและอัพโหลดสู่ระบบเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก นิตยสาร TIME ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีการมอบตำแหน่ง “Person of the Year” หรือ ”บุคคลแห่งปี” ให้กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงข่าวและวิถีชีวิตของคนหมู่มากสูงที่สุด แต่นิตยสาร TIME ได้มอบตำแหน่งนี้ประจำปี 2006 ให้กับ “คุณ (YOU)” ความหมายคือคุณทุกคนที่เข้าสู่สังคมออนไลน์ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ขึ้นมา ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ดังตัวอย่างนี้

- เว็บบล็อก (Web Blog) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บล็อก ซึ่งเปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์หรือวารสารส่วนตัวที่ผลิตด้วยตัวคุณเอง โดยคุณสามารถอัพโหลดคอลัมน์หรือจดหมายข่าวเข้าไปในเว็บไซต์ เพื่อให้คนทั่วโลกได้เยี่ยมชมและแสดงความคิดเห็น โดยการทำข่าว อาจใช้เพียงเครื่องเล่น MP3 ในการบันทึกเสียงหรือใช้กล้องดิจิตอลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือในการบันทึกภาพก็สามารถทำข่าวสารเผยแพร่เองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านการทำข่าว อาทิ บล็อกสถานการณ์อิรักที่จัดทำโดยทหารอเมริกันในสมรภูมิ บล็อกที่ติดตามผลงานและงานวิจารณ์ดนตรีของเด็กมัธยม บล็อกของเพื่อนหรือคนใกล้ชิด เป็นต้น ปัจจุบันมีการประมาณการกันว่ามีบล็อกอยู่ 24 ล้านบล็อกและกำลังเพิ่มขึ้นวันละกว่า 70,000 บล็อก และจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ ห้าเดือน

- คลิปวีดิโอออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ Metacafe.com หรือ YouTube.com ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้นำคลิปวีดีโอสั้นๆ อัพโหลดเข้ามาเก็บไว้ในเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ชม ปัจจุบันพบว่ามีเว็บ YouTube มีอัตราการเจริญโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ กว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน ในแต่ละเดือนมีผู้อัพโหลดวิดีโอขึ้นเว็บกว่า 65,000 เรื่อง สมาชิกเพิ่มขึ้นเดือนละ 20 ล้านคน ซึ่งคลิปวีดิโอที่อัพโหลดเข้ามานั้นมีมากมายหลายประเภท อาทิ การแสดงโชว์ผาดโผน การเล่นดนตรีในแนวใหม่ ภาพเหตุการณ์จริงจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ วิดีโองานเทศกาศต่างๆ รวมไปถึงตัวอย่างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถแสดงความคิดเห็นและร่วมโหวตให้คะแนนคลิปยอดนิยม ทำให้คนบางคนที่อยู่ในคลิปวีดิโอกลายเป็นดาราดังภายในชั่วข้ามคืนก็มี

- สารานุกรมเสรีออนไลน์ เช่น วิกิพีเดีย (Wikipedia.org) เป็นสารานุกรมที่ร่วมกันสร้างขึ้นโดยผู้อ่าน มีคนหลายๆ คนร่วมกันปรับปรุงวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยบทความจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกๆ การแก้ไข ผู้ที่เข้ามาอ่านสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ลงไปได้หรือแก้ไขบทความที่มีเนื้อหาผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้ ทำให้วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมที่ถือได้ว่าสร้างปรับปรุงแก้ไขและตรวจสอบโดยสังคมออนไลน์ และได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและสื่อมวลชน เนื่องจากเนื้อหาเปิดเสรีให้สามารถนำไปใช้ได้ รวมถึงเปิดเสรีที่ให้ทุกคนแก้ไข ปัจจุบัน วิกิพีเดียมีทั้งหมด 250 ภาษา รวมทุกภาษามีบทความมากกว่า 6,000,000 บทความ และปัจจุบัน (พ.ค.2550)วิกิพีเดียไทยมีบทความกว่า 22,000 บทความ
การแบ่งทรัพยากรใช้ร่วมกัน เช่น โครงการ SETI@home หรือ Search for Extra-Terrestrial Intelligence at home เป็นโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ในการค้นหาสัญญาณจากต่างดาว ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยในระยะแรกเป็นโปรแกรมสกรีนเซฟเวอร์ จะทำงานเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีการใช้งานอื่น ปัจจุบัน SETI@home ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้ทั่วไป มีจำนวนผู้ร่วมโครงการถึง 5.2 ล้านคน ได้รับการบันทึกใน กินเนสบุ๊ค (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นโครงการ distributed computing ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ยังทำการอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 3 แสนเครื่อง (5 ธ.ค. 49) โครงการนี้สามารถประมวลผลได้ 257 TeraFLOPS เปรียบเทียบกับ Blue Gene ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกของ ไอบีเอ็ม สามารถคำนวณได้ 280 TFLOPS

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI)

เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้เหมือนคน เช่น หุ่นยนต์ (Robot) ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง มีลักษณะโครงสร้างและรูปร่างแตกต่างกัน หุ่นยนต์ในแต่ละประเภทจะมีหน้าที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ตามการควบคุมโดยตรงของมนุษย์ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำหรับงานที่มีความยากลำบากเช่น งานสำรวจในพื้นที่บริเวณที่เสี่ยงอันตรายหรืองานสำรวจดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันเทคโนโลยีของหุ่นยนต์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำหรับงานสำรวจใต้ทะเล หุ่นยนต์ที่ใช้งานในอวกาศ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเล่นของมนุษย์ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาให้หุ่นยนต์นั้นมีลักษณะที่คล้ายมนุษย์ เพื่อให้อาศัยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ ให้ได้ในชีวิตประจำวัน

การทำงานต่างๆ เลียนแบบพฤติกรรมของคน เช่น การมองเห็น การได้ยิน การคิด การใช้เหตุผลและตัดสินใจ เป็นต้น ตัวอย่าง AI ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอันหนึ่ง ได้แก่ ดีพ บลู ทู (Deep Blue II) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของบริษัท IBM ที่สามารถเอาชนะนายแกรี่ คาสปารอฟ แชมป์โลกหมากรุกเมื่อปี ค.ศ.1997 โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM เครื่องนี้ สามารถประเมินแนวทางที่เป็นไปได้นับพันวิธี ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้ระบบคอมพิวเตอร์จะมีความเฉลียวฉลาดและสามารถตอบสนองได้เหมือนกับมนุษย์มากขึ้น

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลก (Global Positioning System, GPS) คือเครื่องมือที่ทำงานโดยการรับสัญญาณจากดาวเทียมอย่างน้อย 4 เพื่อระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก ปัจจุบันนี้ได้มีการใช้งาน GPS ในรูปแบบของการกำหนดพิกัดของสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจ การนำทาง การทำแผนที่ การเดินป่า การเดินเรือ รวมถึงการค้นหาสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งมีการนำ GPS ไปใช้เป็นระบบติดตามรถยนต์ เพื่อควบคุมดูแลตลอดจนบันทึกเส้นทาง ลักษณะการขับรถ และการควบคุมเครื่องมืออุปกรณ์ในรถ เช่น อุณหภูมิ    ตู้แช่สินค้า ทำให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) โดยเฉพาะดาวเทียมรายละเอียดสูงซึ่งสามารถมองเห็นรายละเอียดของพื้นโลกได้ชัดเจน ปัจจุบันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ฟรีผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Google Earth เป็นโปรแกรมที่สามารถเรียกใช้ผ่านทาง Internet เป็นโปรแกรมที่ทำให้มองเห็นภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงถึงภูมิประเทศตลอดจนรายละเอียดของเมืองหรือพื้นที่ต่างๆ หลายที่ทั่วโลกได้อย่างชัดเจน สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมากมายทั้งในด้านท่องเที่ยว การเรียนการสอนภูมิศาสตร์ การวางแผนการใช้ที่ดินของทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งการประยุกต์ทางธุรกิจต่างๆ

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) คือ การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ จัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ การแพร่ขยายของโรคระบาด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน การบุกรุกทำลายป่าไม้ เป็นต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในสาขาต่าง ๆ เช่น การเกษตร ป่าไม้ ธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ภัยพิบัติ การวางผังเมือง เป็นต้น

ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ย่อมเกิดผลกระทบจากเทคโนโลยีดังกล่าวทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของมนุษย์นั้นมีมากมาย ทั้งในเรื่องของการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและเรื่องอื่นๆ แต่ประเด็นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เนื่องจากในโลกของการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนอาจทำให้ข้อมูลสารสนเทศที่ได้รับมีเนื้อหาทั้งเหมาะสมและไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่การส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งอาจทำให้บุคคลที่สามเกิดความเสียหายได้ หรือแม้กระทั่งเนื้อหาของสารสนเทศที่ปรากฏอยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม มิให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันกลไกของรัฐกำลังพยายามเข้าไปจัดการกับปัญหาดังกล่าวแต่ก็มีข้อจำกัดในหลายๆ ประการที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ทั้งหมด ทางออกของการแก้ไขปัญหาดูเสมือนหนึ่งว่าจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับประเด็นทางจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์มากกว่าเพื่อการทำลาย ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องทางจริยธรรมคงจะเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ในระยะยาว

ประเด็นสำคัญทางด้านจริยธรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่พบบ่อยครั้ง ดังเช่นตัวอย่างนี้
การแพร่ระบาดของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมมีจำนวนมากขึ้น อาทิ เว็บไซต์ลามกอนาจาร เว็บไซต์บริการทางเพศ เว็บไซต์เกี่ยวกับการพนัน เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับยาเสพติดเว็บไซต์ที่ขายของผิดกฎหมายหรือละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบอย่างทั่วถึงเป็นไปได้ยาก
เว็บแคม (webcam) หรือ เว็บแคเมรา (web camera) เป็นกล้องที่ส่งสัญญาณภาพผ่านทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยที่แต่ละฝ่ายสามารถเห็นภาพกันและกันขณะพูดคุย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการประชุมออนไลน์ แต่ขณะเดียวกัน เว็บแคมก็เป็นสื่อที่ใช้ในการชมและถ่ายทอดกิจกรรมทางเพศ หรือแสดงลามกทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น
อาชญากรคอมพิวเตอร์ เช่น แฮกเกอร์ (Hacker) บางคนที่พยายามหาวิธีการหรือช่องโหว่ของระบบ เพื่อแอบลักลอบเข้าสู่ระบบ เพื่อล้วงความลับหรือแอบดูข้อมูลข่าวสาร อาทิ ลักลอบใช้ข้อมูลบัตรเครดิต ลบรายชื่อผู้ใช้งานในระบบ และบางครั้งมีการทำลายข้อมูลข่าวสารหรือทำความเสียหายให้กับองค์กร
การแพร่ระบาดของไวรัสคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไปสร้างความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ รบกวนการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่างเครือข่ายทำงานช้าลง ติดตั้งโปรแกรมที่เปิดทางให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์

โดยสรุปแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกในยุคปัจจุบันที่สามารถเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับแคบลง ระยะทางซึ่งแต่เดิมคืออุปสรรคสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์ชาติกลับไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไปทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้มากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของสังคมในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด หากรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน ย่อมส่งผลให้มนุษย์ในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น